ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft palate)

772 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft palate)

                 โรคปากแหว่งเพดานโหว่ คือ การมีรูเปิด เชื่อมระหว่างช่องปากและจมูก เกิดขึ้นจากการที่เนื้อเยื้อที่ควรเจริญขึ้นมากั้นระหว่างช่องปากและจมูกไม่เจริญเติบโต ซึ่งถือเป็นความพิการแต่กำเนิด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. แบบปฐมภูมิ คือบริเวณริมผีปากแหว่ง (primary cleft palate) 2. แบบทุติยภูมิ (secondary cleft palate) เริ่มแหว่งตั้งแต่บริเวณเพดานปาก โดยอาจยาวตลอดไปจนถึง เพดานอ่อน และเพดานแข็งได้

                สุนัขและแมวพันธุ์แท้ มีโอกาสพบโรคนี้มากกว่าพันธุ์ผสม และพบมากที่สุดในพันธุ์หน้าสั้น โดยพันธุ์ที่มีโอกาสพบได้มาก ได้แก่
                - Boston terrier
                - Pekingese
                - Bulldogs
                - Miniature schnauzers
                - Beagle
                - Cocker spaniels
                - Dachshunds
                - Siamese cats

                 โดยสาเหตุหลักเกิดจาก กรรมพันธุ์ แต่การขาดสารอาหาร ติดเชื้อไวรัส และการได้รับสารพิษ ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

 




 


อาการ
Primary cleft palate จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า เนื่องจากรอยโรคมองเห็นได้จากภายนอก
                - รูจมูกผิดรูป
                - สามารถเห็นเหงือก และ ฟันบนได้จากภายนอก

Secondary cleft palate รอยโรคจะอยู่ภายในช่องปาก
                - จาม มีเสียงดังออกทางจมูก เพราะอาหารและน้ำลาย ผ่านเข้าไปในจมูก
                - มีน้ำมูกไหลหลังกินอาหาร ขณะก่อน หรือหลังกินนม และจะไหลต่อเนื่องถ้าหากมีการติดเชื้อร่วมด้วย
                - ไอ และ ขาก เมื่อดื่มน้ำ
                - เจริญเติบโตช้า เนื่องจากมีปัญหาในการกินอาหาร
                - มีปัญหาในเรื่องการหายใจ และการทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจาก มีของเหลว หรือการติดเชื้อในจมูก

 

การวินิจฉัย
                การเปิดปากตรวจทั่วไปสามารถเห็น บริเวณ ริมฝีปาก และ เพดานแข็งที่แหว่งได้ แต่อาจต้องวางยาสลบหากต้องการตรวจบริเวณเพดานอ่อน เนื่องจากอยู่ลึกลงในช่องปาก
                การถ่ายภาพรังสี (X-ray) เพื่อตรวจภาวะปอดติดเชื้อ (aspiration pneumonia) ที่มักเกิดจากการสำลักนมและอาหาร

 

การรักษา
                กรณี primary cleft palate ขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่เจ้าของสัตว์มักจะ ให้ทำการผ่าตัดแก้ไข จากเหตุผลในเรื่องความสวยงาม


                กรณี secondary cleft palate ต้องทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ภาวะปอดติดเชื้อ (aspiration pneumonia)  และช่วยให้สัตว์สามารถกินอาหารได้อย่างปกติ การผ่าตัดมีหลายเทคนิค โดยทั่วไปจะเป็นการทำ flap หรือดึงเนื้อเยื่อด้านข้างมาปิดรูที่เพดานแข็ง หรือเพดานอ่อน
                อย่างไรก็ตามการผ่าตัดอาจทำในยากในกรณีสัตว์ที่อายุน้อยมาก และช่องเปิดอาจมีขนาดเล็กลงบ้างเมื่อสัตว์โตขึ้น โดยทั่วไปจึงอาจให้วิธีการสอดท่อให้อาหาร จนอายุ 3-4 เดือนค่อยทำการผ่าตัด เจ้าของอาจเรียนรู้วิธีการสอดท่อให้อาหารในแต่ละมื้อ หรืออาจให้สัตวแพทย์ ทำการสอดท่อให้อาหารค้างไว้ ผ่านทางด้านข้างของคอ เพื่อที่จะป้อนอาหารเหลวได้ง่าย
                นอกจากนี้ มีการใช้เพดานปากเทียม (Prosthesis) แบบถาวร หรือชั่วคราว ทำจากวัสดุ เช่น metal alloy หรือ เรซิ่น (Resin)ในการช่วยปิดรูที่มีขนาดกว้างที่ไม่สามารถใช้เนื้อเยื่อรอบข้างเย็บปิดได้ โดยต้องทำการวางยาสลบ 2 ครั้ง ครั้งแรก เพื่อทำการพิมพ์แบบ เพื่อหล่อแบบทำแผ่นปิดที่เหมาะสมกับตัวสัตว์ และอีกครั้งเพื่อทำการผ่าตัดใส่แผ่นปิดรู ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย จากการใช้เพดานปากเทียม คือ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงควรทำการตรวจ แผ่นปิดรู ทุก 6-12 เดือน โดยต้องทำการวางยาสลบ นำแผ่นออกมาทำความสะอาดและใส่กลับที่เดิม

 




การดูแลหลังรักษา
                เนื่องจากเป็นการผ่าตัดในสัตว์อายุน้อย มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และ น้ำหนักน้อยผิดปกติ ทำให้การวางยาสลบและการผ่าตัด มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในบางกรณี หลังจากการผ่าตัด อาจพบเพดานอ่อนบวม ทำให้หายใจลำบาก และมีเสียงกรนได้ ซึ่งมักจะหายได้เอง

การดูหลังการผ่าตัด ได้แก่
                - สัตว์ต้องได้รับยาต้านจุลชีพต่อเนื่อง ในกรณีที่มีภาวะปอดบวม หรือติดเชื้อในช่องจมูกร่วมด้วย
                - ควรใส่ปลอกคอกันเลีย (Elizabeth collar) ไว้ 1-2 สัปดาห์เพื่อป้องกันแผล
                - ให้อาหารอ่อน หรืออาหารบดเหลว ทางปาก หรือ ทางท่อให้อาหาร 2-4 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
                - ห้ามให้อาหารแข็ง และแทะของเล่น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

 

ภาวะแทรกซ้อน
                - แผลผ่าตัดไม่เชื่อมติดกัน หรือ แผลแตก เนื่องจาก สัตว์ทำการเกาบริเวณหน้า หรือแรงตึงของแผลมากเกินไป มักเกิดขึ้น 3-5 วันหลังผ่าตัด
                - มีน้ำมูก และจาม
                - ยังคงมีอาการไอ และ ขาก เนื่องจาก เพดานอ่อนสั้น

 

การพยากรณ์โรค
                อยู่ในเกณฑ์ ดีเยี่ยมในกรณีที่รูแหว่งมีขนาดเล็ก หากรอยโรคมีขนาดยาวเกินครึ่งนึงของเพดานแข็ง การผ่าตัดจะทำได้ยากขึ้น และมักมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ส่วนรอยโรคที่มีขนาดใหญ่มาก อาจต้องให้เครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษในการผ่าตัด

                สัตว์ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ไม่ควรใช้เป็นพ่อแม่ พันธุ์ต่อ รวมถึงพ่อแม่ของสัตว์ตัวนั้นด้วย หากเป็นพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค

               

เรียบเรียงโดย

น.สพ. พิทวัส ตันสกุล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้