46 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะคลอดยากในสุนัข (dystocia) เกิดจากการที่แม่สุนัขไม่สามารถคลอดลูกสุนัขออกมาจากช่องเชิงกรานได้ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูกสุนัข เจ้าของอาจสังเกตอาการที่อาจเข้าข่ายภาวะคลอดยากในเบื้องต้น และให้รีบติดต่อสัตวแพทย์ทันที
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กิดภาวะคลอดยาก
อัตราการเกิดภาวะคลอดยากในสุนัขนั้นอยู่ที่ 2-5% โดยขึ้นกับขนาด (<10 kg หรือ >40 kg), อายุ (3-6 ปี) และสายพันธุ์ (พันธุ์หน้าสั้น เช่น French bulldogs, Boston terriers, Pugs, Chihuahuas) โดยปัจจัยที่มีผลต่อภาวะคลอดยากสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
1. ปัจจัยจากแม่สุนัข (Maternal factors): สามารถพบได้ประมาณ 75% ได้แก่
- ภาวะมดลูกเฉื่อย (uterine inertia)
- การฉีกขาดของมดลูก (uterine torsion)
- ความผิดปกติของช่องคลอด (vaginal abnormalities)
- ความผิดปกติของเชิงกราน (pelvic abnormalities)
- ภาวะป่วยหรือติดเชื้อ (systemic illness and infection)
- ภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition)
- ปัญหาด้านพันธุกรรม (terrier breeds)
- สภาวะอารมณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดหรือหวาดกลัว (fear and stress)
2.ปัจจัยจากลูกสุนัข (Fetal factors): สามารถพบได้ประมาณ 25% ได้แก่
- ปัญหาลูกในท้องอยู่ผิดท่า (malpresentation)
- ความผิดปกติของลูกสัตว์ในครรภ์ (fetal malformation) เช่น ลักษณะตัวอ่อนบวมน้ำ (anasarcous fetuses)
- ขนาดของกะโหลกลูกสัตว์ต่อความกว้างของเชิงกรานของแม่ (cephalopelvic disproportion)
- ขนาดของตัวอ่อน (fetal oversize)
- จำนวนลูกทั้งหมดต่อครอก (litter size)
- การตายของตัวอ่อน (fetal death)
การวินิจฉัยภาวะคลอดยาก
เจ้าของสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้
1. แม่สุนัขมีอุณหภูมิ <100 oF (37.8 oC) แต่ยังไม่มีการเบ่งคลอดภายใน 24 ชั่วโมง
2. แม่สุนัขมีระยะเวลาตั้งท้องมากกว่า 70-72 วันนับจากวันที่ผสมพันธุ์ครั้งแรก หรือระยะเวลามากกว่า 60 วันนับจากวันแรกที่เข้าสู่ระยะหลังการเป็นสัด
3. เริ่มมีอาการเบ่งคลอดแรงแต่ไม่มีลูกกมาภายใน 1 ชั่วโมง
4. ช่วงระหว่างลูกสุนัขตัวแรกและตัวต่อไปคลอดออกมาห่างกันมากกว่า 2 ชั่วโมง
5. พบของเหลวสีเขียว (uteroverdin) ในสุนัข หรือสีน้ำตาล - แดงในแมวออกมาจากช่องคลอด แต่ไม่มีลูกออกมาภายใน 30 นาที
6. มีถุงน้ำคร่ำหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกติดอยู่บริเวณช่องเชิงกราน
7. ช่วงระหว่างถุงน้ำคร่ำ (chorioallantois) แตกและตอนที่ลูกสุนัขเริ่มคลอดออกมา ห่างกันเป็นเวลามากกว่า 4 ชม
8. เลือดไหลออกมาจากช่องคลอดปริมาณมาก
9. ปวดท้อง มีไข้ อาเจียน หมดสติขณะคลอด
10. จำนวนลูกน้อยหรือมีเพียง 1 ตัวจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดยาก
ถ้าเจ้าของพบอาการดังกล่าวเพียงข้อใดข้อหนึ่งให้รีบพาสัตว์เลี้ยงของท่านมาพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป ดังนี้
1. การถ่ายภาพรังสี (x-ray): เพื่อประเมินจำนวนลูก (litter size), ท่าและตำแหน่งของลูก (fetal positioning) และวัดขนาดกะโหลกของลูกเทียบกับความกว้างของช่องเชิงกราน
2. การทำอัลตราซาวนด์ (ultrasound): เพื่อประเมินอัตราการเต้นของหัวใจ (fetal heart rate) ซึ่งมีค่าปกติ >220 ครั้ง/นาที หากพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจ <180 ครั้ง/นาที จะพิจารณาผ่าคลอดโดยทันทีเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตของแม่และลูกสุนัข
การจัดการภาวะคลอดยาก
แบ่งเป็น 2 วิธี
1. การรักษาทางยา (medical treatment): วิธีนี้สามารถทำได้เมื่อสภาพร่างกายของแม่และลูกสุนัขอยู่ในสภาวะคงที่ ตำแหน่งของตัวอ่อนเหมาะสม ไม่พบการอุดตันของลูกสัตว์ที่ช่องเชิงกรานหรือเชิงกรานแคบ อัตราการเต้นของหัวใจลูกสุนัขมากกว่า 190 ครั้ง/นาที และจำนวนลูกที่ค้างอยู่ไม่เกิน 4 ตัว ถึงจะพิจารณาให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก (oxytocin) โดยในกรณีนี้มีความเสี่ยงที่อาจเกิดมดลูกปริแตกได้หากมีการอุดตันของลูก จึงต้องใช้ความระมัดระวังมาก
2. การผ่าคลอด (cesarean section): พิจารณาจากการที่แม่สุนัขไม่สามารถคลอดผ่านช่องเชิงกรานได้ หรือหลังจากการรักษาทางยาไม่ได้ผล โดยมีขั้นตอนในการเตรียมตัวสัตว์ก่อนวางยาสลบเพื่อผ่าคลอด ได้แก่ การตรวจร่างกายเบื้องต้น, การตรวจค่าเลือด (ค่าความสมบูรณ์เม็ดเลือด, ค่าทางเคมีในเลือด), การถ่ายภาพรังสีและการอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง
เรียบเรียงโดย
สพ.ญ. แพรวโพยม จันทร์แสง (หมอกิ๊ฟ)
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์สวนสยาม