มดลูกอักเสบ (Pyometra)

18117 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มดลูกอักเสบ (Pyometra)

  มดลูกอักเสบ คือ การติดเชื้อของมดลูก (Uterine infection) ทำให้เกิดการอักเสบของมดลูก (Metritis) จนอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรงจนมีหนองสะสมอยู่เต็มมดลูก เกิดเป็นภาวะมดลูกอักเสบ (Pyometra) อาจเกิดได้ทั้งในสุนัขและแมว สามารถทำให้สัตว์มีอาการป่วยอย่างรุนแรงได้ แม้ว่าโรคนี้จะถูกค้นพบมานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถบรรยายกลไกการเกิดโรคได้อย่างสมบูรณ์ โดยทั่วไปเป็นที่ทราบกันว่า ฮอร์โมน Progesterone และ Estrogen มีบทบาทเกี่ยวข้อง และการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรค แต่สามารถพบได้ทั่วไปในสุนัขอายุ 8 ปีขึ้นไป โดยพบว่า สุนัขเพศเมีย 23-24 % จะเป็นโรคนี้ ภายในอายุ 10 ปี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของสุนัขเพศเมียที่ไม่ทำหมัน ทั้งหมด และ 2.2% ของในแมวเพศเมียพบว่า  เป็นโรคนี้ ภายในอายุ 13 ปี

                ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมน มดลูกของสุนัขและแมว จะทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการปฏิสนธิและฝังตัวของตัวอ่อน แต่หากมีแบคทีเรียเข้ามาภายในมดลูก ในบางช่วงของวงจรการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน สภาวะของมดลูกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น จนกลายเป็นสภาวะที่ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยเชื้อแบคทีเรียที่เกี่ยวข้อง มักเป็นแบคทีเรียที่พบได้เป็นปกติในลำไส้ และช่องคลอด (E. coli พบได้บ่อยที่สุด) ดังนั้นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มดลูกอาจเกิดจาก การติดเชื้อย้อนขึ้นไปจากช่องคลอด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือ การปนเปื้อนอุจจาระ

                สุนัขและแมวส่วนใหญ่ที่ทำหมันตั้งแต่แต่ช่วงต้นของชีวิต จะไม่เกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตามในบางรายอาจพบภาวะมดลูกอักเสบเฉพาะที่ บริเวณตอของมดลูกที่ถูกตัดออกไม่หมดในตอนผ่าตัดทำหมัน  โดยอาจเกิดจาก เนื้อเยื่อของรังไข่ที่ตกค้าง หรือ ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นที่มีผลคล้าย ฮอร์โมน Progesterone เช่น ยาคุมกำเนิด ก็สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้

 

อาการ

                อาการที่สัตว์แสดงออกอาจไม่ได้มีแค่ที่ระบบสืบพันธ์ เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงมาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้จาก ภาวะการติดเชื้อ และการอักเสบที่รุนแรง
อาการภายนอกที่มักสังเกตพบ คือ
                - ซึม อ่อนแรง (71%)
                - อาเจียน หรือ ไม่อยากอาหาร (75%)
                - ดื่มน้ำเยอะผิดปกติ
                - ฉี่เยอะผิดปกติ (71%)
                - หอบ เยื่อเมือกมีสีซีด  (23-33%)
                - มีสิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ เป็น หนอง (52-85%)
                - ท้องกาง
                - ปวดท้อง (76%)

อาการอื่นๆที่พบได้เช่น  ถ่ายเหลว น้ำหนักลด ตาอักเสบ เจ็บขา ก็อาจพบได้เช่นกัน หรือสัตว์บางรายอาจไม่มีอาการอื่นๆเลย นอกจากมีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศ โดยทั่วไป โรคนี้เป็นโรคที่ควรคำนึงถึงใน สุนัขเพศเมียที่ยังไม่ทำหมันทุกตัว ที่มีอาการป่วย

อย่างไรก็ตาม สุนัขและแมวหลายตัวที่ เกิดโรคนี้ แต่ปากมดลูกปิด อาจทำให้ไม่พบ หนองไหลจากอวัยวะเพศได้เช่นกัน



 

การวินิจฉัย

                สัตวแพทย์อาจสงสัยโรคนี้ได้จาก ประวัติของสัตว์ป่วย และการตรวจร่างกายพื้นฐาน หากสัตว์มีภาวะปากมดลูกปิดทำให้ไม่พบสิ่งคัดหลังจากช่องคลอด อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมมากกว่าภาวะที่ปากมดลูกเปิด โดยทั่วไป สัตวแพทย์ จะทำการตรวจสิ่งเหล่านี้เพื่อยืนยัน ภาวะมดลูกอักเสบ
                - ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
                - ตรวจค่าเคมี ในเลือด
                - ตรวจปัสสาวะ
                - ถ่ายภาพรังสี (X-ray) ช่องท้อง
                - ถ่ายภาพ Ultrasound ช่องท้อง
                - ตรวจเซลล์เยื่อบุช่องคลอด

การ X-ray อาจใช้วินิจฉัยได้บ้าง แต่การ Ultrasound ช่องท้อง จะสามารถ ระบุภาวะมดลูกที่มีของเหลวอยู่ภายในได้ชัดเจน

 

การรักษา

                 ภาวะมดลูกอักเสบ เป็นภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาทันที เพื่อป้องกันการเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนถึงชีวิต การรักษาที่แนะนำคือ การผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก Ovariohysterectomy เหมือนการผ่าตัดทำหมัน แต่มีขนาดแผลที่ใหญ่กว่าการทำหมันปกติ  โดยทั่วไปแล้ว สัตว์ต้องได้รับการปรับสภาพ เพื่อให้พร้อมกับการผ่าตัดก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัด  และผลจากวิธีการรักษาวิธีนี้ มักจะฟื้นตัวได้รวดเร็วและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้ยังป้องกัน มะเร็งของรังไข่ มดลูก และการตั้งครรภ์ในภายหลังได้อีกด้วย  อย่างไรก็ตามไม่ควรทิ้งไว้นานจนเกินไป ควรปรับสภาพให้พร้อมและทำการผ่าตัดทันที

                แม้ว่าการผ่าตัดจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษา ในบางกรณีที่เจ้าของสัตว์ยืนยันไม่ต้องการผ่าตัด เช่น สัตว์เป็น พ่อ แม่พันธุ์ และต้องการเก็บไว้ทำพันธุ์ต่ออาจใช้การรักษาทางยาแทน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัญหาการติดเชื้อที่ทำให้เกิดผลกระทบเกี่ยวของกับหลายระบบของร่างกายแล้ว เมื่อเลือกวิธีรักษาทางยา สุนัขมักจะมีอาการ ปวดท้อง อาเจียน และ ถ่ายอุจจาระมากผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว น้ำลายไหลมากผิดปกติ หายใจลำบาก หอบ และมีไข้ ร่วมด้วยได้ การรักษาด้วยยา เป็นการใช้ยา กลุ่มฮอร์โมน Prostaglandins และ ยาต้านจุลชีพ โดยต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะเห็นผล นอกจากนี้สุนัขและแมว ที่ใช้การรักษาทางยานี้ เสี่ยงต่อการกลับมาเป็นมดลูกอักเสบซ้ำอีก จึงควรได้รับการผ่าตัดหมันทันทีหลังจากที่ ทำการผสมพันธุ์และคลอดลูกในรอบถัดไป



การดูแลหลังการรักษา

                ในสัตว์ที่ป่วยด้วยมดลูกอักเสบเป็นหนองโดยไม่มีปัญหาอื่นแทรกซ้อน หลังจากที่สัตว์ป่วยได้รับการรักษาจนมีอาการดีขึ้นและได้กลับบ้านแล้ว การดูแลทั่วไปไม่แตกต่างจากกรณีของสัตว์ที่ผ่าตัดทำหมัน แต่จะสัตว์จะได้รับยาต้านจุลชีพจากสัตว์แพทย์ต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 10 วัน ควรกักบริเวณ ยังไม่ให้วิ่งเล่น ตามใจ ขึ้นลงบันได เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด และควรใส่เครื่องป้องกันการเลีย เกา แผลผ่าตัดไว้เสมอ

                ในกรณีที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะแห้งน้ำรุนแรง ภาวะช็อค หรือมีภาวะอวัยวะล้มเหลวโดยเฉพาะไต  สัตว์ป่วยจำเป็นพักต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อให้ยาต้านจุลชีพ สารน้ำ รวมทั้งสารอาหารทางหลอดเลือดดำประมาณ 10-14 วัน จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ สัตว์ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจจะจำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาลนานกว่านี้

 

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

                 ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังการผ่าตัด คือ
                - ช่องท้องอักเสบ 13 %
                - ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 6%
                - แผลติดเชื้อ  3%
                - จอประสาทตาอักเสบ  2%
                - หัวใจเต้นผิดจังหวะ 2%
                และหากก่อนผ่าตัดมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำด้วย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะช่องท้องอักเสบมากขึ้น 10 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมาก หากมีการปนเปื้อนของ หนองภายในมดลูกในช่องท้อง หรือมดลูกฉีกขาดภายในช่องท้อง



การพยากรณ์โรค

                การพยากรณ์โรค หลังจากการผ่าตัดเอามดลูกที่ติดเชื้อ และรังไข่ออก โดยรวมถือว่า ดี ในสุนัข (โอกาสเสียชีวิตหลังผ่า 0-5% ; ในแมว 8%) หากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน และควบคุมการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และ ภาวะอวัยวะล้มเหลว การพยากรณ์โรคจะแย่ลง สัตว์ป่วยบางรายอาจมีภาวะกินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ ในกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างถาวรต่อไตร่วมด้วย

 

เรียบเรียงโดย

น.สพ. พิทวัส ตันสกุล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้