การทำหมันเพศผู้ (Castration)

377 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การทำหมันเพศผู้ (Castration)

           การทำหมันสัตว์เพศผู้ (Neuter) โดยทั่วไปทำเพื่อควบคุมประชากรหรือลดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ สามารถทำได้สองแบบ คือแบบฉีดยา (ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากอาจไม่ได้ผล และมีผลข้างเคียงรุนแรง) และแบบผ่าตัดนำอัณฑะออก (Gonadectomy) ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายกว่า ส่วนบางกรณีอาจเพื่อร่วมการรักษาหรือป้องกันโรคบางชนิด เช่น
                - ภาวะทองแดง (Cryptorchidism)
                - อัณฑะฝ่อหรือไม่เจริญ (Testicular hypoplasia)
                - อัณฑะหรือท่ออสุจิอักเสบ (Orchitis/Epididymitis)
                - เกิดบาดแผลรุนแรงที่อัณฑะ (Severe testicular trauma)
                - เนื้องอกของอัณฑะ (Testicular neoplasia)
                - อัณฑะบิด (Testicular torsion)
                - ภาวะไส้เลื่อน (Perineal hernia)
                - นิ่วในท่อปัสสาวะ (Urethral calculi)
                - โรคของต่อมลูกหมาก (Prostatic dieases)
                - เนื้องอกข้างก้น (Perianal adenoma)

                                                                                       

อาการ
                โดยทั่วไปสัตว์ที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมัน จะเป็นสัตว์สุขภาพดี แต่หากเป็นโรคที่เกี่ยวกับ อัณฑะ และท่อนำอสุจิ เช่น
                - ภาวะทองแดง (Cryptorchidism) และเป็นเนื้องอกในช่องท้อง อาจมีอาการ คลื่นไส้ ปอดท้อง อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร ขนร่วง มีความดึงดูดต่อเพศเดียวกัน (เพศผู้)
                -  อัณฑะฝ่อหรือไม่เจริญ (Testicular hypoplasia) อาจมีอาการ ขนร่วง มีความดึงดูดต่อเพศเดียวกัน (เพศผู้) เต้านมขยาย
                - อัณฑะหรือท่ออสุจิอักเสบ (Orchitis/ Epididymitis) อาจมีอาการ บวม เจ็บอัณฑะ  ซึม อ่อนแรง มีไข้ และเบื่ออาหาร
                - เกิดบาดแผลรุนแรงที่อัณฑะ (Severe testicular trauma) อาจมีอาการ เลือดออก เจ็บ อัณฑะ บวม เปลี่ยน
สี และช็อค
                - เนื้องอกของอัณฑะ (Testicular neoplasia) อาจมีอาการ อัณฑะโตข้างใดข้างนึงหรือ ทั้งสองข้าง ขนร่วง เจ็บ มีความดึงดูดต่อเพศเดียวกัน (เพศผู้) เต้านมขยาย ตัวอย่างเนื้องอก เช่น

·         interstitial cell (Leydig) tumor

·          Sertoli (sustentacular) cell tumors

·         Seminomas


                - อัณฑะบิด (Testicular torsion) อาจมีอาการ เจ็บปวดเฉียบพลัน อัณฑะบวม ซึม
                - ภาวะไส้เลื่อน (Perineal hernia) อาจมีอาการ เกิดก้อนบวมข้างก้น ท้องผูก ขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะลำบาก
                - นิ่วในท่อปัสสาวะ (Urethral calculi) อาจมีอาการ ปัสสาวะลำบากหรือไม่ได้เลย ซึม ไม่กินอาหาร ปัสสาวะเปลี่ยนสี และปวดท้อง
                - โรคของต่อมลูกหมาก (Prostatic dieases) อาจมีอาการ ท้องผูก อุจจารและปัสสาวะลำบาก ปวดท้อง และปัสสาวะเปลี่ยนสี
                - เนื้องอกข้างก้น (Perianal adenoma) อาจมีอาการ อึมีเลือดปน ระคายเคืองรอบรูก้น มีก้อนบวมข้างรูก้น

 



การวินิจฉัย
                ในกรณีที่สัตว์สุขภาพดี อาจใช้การตรวจเลือดพื้นฐาน เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
                 หากมีความผิดปกติที่ อัณฑะหรือท่ออสุจิ อาจต้องใช้การตรวจมากขึ้น แตกต่างกันไปตามแต่ละโรคเช่น
                - ตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด
                - ตรวจค่าเคมีในเลือด
                - ตรวจปัสสาวะ รวมถึงการเพาะเชื้อทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ
                - Ultrasound
                - ถ่ายภาพรังสี (X-ray)
                - ส่งตรวจชิ้นเนื้อ

 

การรักษา
                การผ่าตัดทำหมันสุนัขเพศผู้โดยทั่วไป มี 2 เทคนิค คือ แบบ open และ closed technique สามารถเลือกใช้ได้ทั้งคู่ขึ้นกับสัตวแพทย์ผู้ผ่าตัด แต่หากเส้น spermatic cord ภายในมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซ.ม. ควรใช้ open technique เนื่องจากสามารถผูกได้แน่นหนากว่า โดยจะกรีดเปิดแผลอยู่บริเวณ แนวกลางตัว เหนือถุงอัณฑะ แต่ในกรณีที่สุนัขอายุน้อย อาจใช้การเปิดผ่าที่อัณฑะเนื่องจากอัณฑะยังเล็กและมักลื่นหลุดเข้าไปที่บริเวณขาหนีบ
                ในแมวมักกรีดเปิดทีบริเวณอัณฑะ โดยกรีดเป็นแผลแนวตั้ง 2 รอย ตามอัณฑะแต่ละฝั่ง หรือ กรีดตรงกลางระหว่างอัณฑะแผลเดียว และไม่เย็บปิดแผล
                นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดทำหมันแบบไม่ผ่าเอาอัณฑะออก คือการตัดท่อนำอสุจิ (Vasectomy) โดยการเปิดผ่านหน้าท้องช่วงท้าย แต่การทำหมันแบบนี้จะไม่ลดพฤติกรรมอันไม่ถึงประสงค์ และไม่ลดโอกาสเกิดโรคที่อาจเกิดจากฮอร์โมนเพศ
                การทำหมันในกรณีเป็นทองแดง หากพบอัณฑะอยู่นอกช่องท้อง แต่ไม่ลงถุงหุ้มอัณฑะ สามารถใช้วิธีการผ่าตัดเหมือนปกติได้ หรือกรีดเปิดผ่าจากผิวหนังเหนืออัณฑะข้างนั้นโดยตรง แต่ถ้าหากไม่พบอัณฑะเลย อาจหมายถึงอัณฑะค้างอยู่ในช่องท้อง การผ่าตัดจะเป็นการกรีดเปิดผ่าผ่านหน้าท้อง โดยอัณฑะข้างที่เป็นทองแดงมักจะมีขนาดเล็กกว่าข้างปกติ
               

การดูแลหลังผ่าตัด
                - การกักบริเวณ ไม่ให้วิ่ง กระโดด หรือ เล่นอย่างหนักหน่วง เป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
                - ป้อนยาที่สัตวแพทย์จ่ายให้
                - ใส่อุปกรณ์ป้องกันการเลียแผลไว้เสมอ เช่น เสื้อกันเลีย ปลอกคอกันเลีย (Elizabeth collar)
                - ประคบเย็นที่บริเวณแผลหลังผ่าตัด (กรณีแผลบวม มีรอยช้ำ)
                - ในแมวควรเปลี่ยนทรายแมวเป็นแบบกระดาษอัดหรือฉีก 3-7 วันหลังผ่าตัด

 

ภาวะแทรกซ้อน
                ในสุนัข
                - แผลผ่าตัดติดเชื้อ
                - เลือดซึมออกจากแผลผ่าตัด
                - รอยช้ำที่บริเวณรอบแผลผ่าตัด และถุงหุ้มอัณฑะ
                - บวม บริเวณรอบแผลผ่าตัด และถุงหุ้มอัณฑะ
                - ก้อนเลือดคั่งที่บริเวณถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotal hematoma) ซึ่งหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเอาถุงหุ้มอัณฑะออก
                - ในสุนัขพันธุ์ Grey hound อาจพบเลือดออกหลังผ่าตัด 36-48 ชั่วโมงได้ (26%) ทั้งในการทำหมันเพศผู้ และเมีย โดยมักพบเลือดออกใต้ผิวหนัง เป็นรอยช้ำ
                ในแมว
                - ท่ออสุจิอักเสบ
                - ก้อนเลือดคั่งที่บริเวณถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotal hematoma)
                - ฝีที่ถุงหุ้มอัณฑะ
                - อวัยวะเพศแข็งตัวตลอดแม้ไม่ได้กระตุ้น (priapism) ซึ่งอาจต้องผ่าตัดแก้ไขในบางราย
                - เลือดออกจากถุงหุ้มอัณฑะ กรณีที่ปมห้ามเลือดเกิดการคลายตัว ซึ่งหากเลือดออกมาและไม่หยุดอาจต้องผ่าตัดแก้ไข

 

การพยากรณ์โรค

                ในรายที่สุขภาพดีการพยากรณ์โรคถือว่าดีมาก แต่ในรายที่ผ่าตัดทำหมันเพื่อรักษาโรคอื่น การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับโรคนั้นๆ
                สำหรับสุนัขที่ทำการผ่าตัดทำหมัน จะไม่ปล่อยอสุจิออกมา เมื่อผ่านไปอย่างน้อย 5 วันหลังผ่าตัดเอาอัณฑะออก แต่ในกรณีตัดเพียงท่อนำอสุจิ อาจพบอสุจิได้ถึง 21 วันหลังผ่าตัด แต่ปริมาณอสุจิจะค่อยๆลดลงไปตามเวลา
                ในแมวยังไม่มีการศึกษา ระยะเวลาที่อสุจิคงเหลือในกรณีผ่าตัดเอาอัณฑะออก แต่ในการผ่าตัดเพียงท่อนำอสุจิอาจพบอสุจิได้ถึง 49 วันหลังผ่า
                โดยทั่วไปจะแนะนำให้แยกสัตว์เพศผู้ที่พึ่งทำหมันออกจากสัตว์เพศเมียที่เป็นสัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10-14 วัน

 

เรียบเรียงโดย

น.สพ. พิทวัส ตันสกุล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้